ประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “STT50”

ประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี “STT50”

   ✨ รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 50 (The 50th International Congress on Science, Technology and Technology-based Innovation (STT50)) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ประธานการจัดงาน STT50 กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน และศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิด และต้อนรับผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติรวมกว่า 1 พันคน ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
     ✨โดยการประชุมวิชาการนานาชาติ STT50 ในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Science x Creativity : Crafting the World” หรือ วิทยาศาสตร์ X การสร้างสรรค์ : รังสรรค์โลก โดยมุ่งเน้นการผสานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เพื่อก่อให้เกิดการค้นหาและต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ที่ไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเดิมๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีงานด้านวิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์มากมายที่จะพลิกโลกได้ในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1 พันคน จาก 20 ประเทศทั่วโลก มีการนำเสนอผลงานวิชาการแบบ oral presentations 200 เรื่อง และการนำเสนอแบบ Poster 300 เรื่อง ในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ เคมี คณิตศาสตร์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม และอาหารและวิทยาศาสตร์การเกษตร
     ✨สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (STT) เป็นหนึ่งในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2517 หลังจากนั้นมหาวิทยาลัย ต่างๆ ก็ได้หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ภายในงานนอกจากจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การประชุมย่อย และการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกแล้ว ยังมีการออกบูธนิทรรศการ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจากบริษัทต่างๆ อีกด้วย โดยตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษ ของการประชุม STT ได้เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีมากมาย ได้มาแบ่งปันข้อมูล ความเชี่ยวชาญ และสร้างเครือข่ายทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อร่วมกันสรรค์สร้าง องค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
     ✨การประชุมวิชาการนานาชาติ STT50 นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ทศวรรษของการประชุมแล้ว ยังเป็นโอกาสพิเศษในการเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปี แห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี 2567 นี้ อีกด้วย ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุม STT มาแล้ว 5 ครั้ง คือ พ.ศ. 2521, 2527, 2532, 2540 และ 2555 ตามลำดับ