เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย พร้อมทัพนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2024 ภายใต้แนวคิด “Unlocking the Potential of Ignite Thailand: ปลดล็อกศักยภาพคนไทยจุดประกายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมดุสิต ธานี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
.
งานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2024 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Unlocking the Potential of Ignite Thailand: ปลดล็อกศักยภาพคนไทยจุดประกายสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อสร้างและเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากำลังคน ระบบนิเวศวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย และเป็นเวทีวิชาการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานวิจัยของนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารงานวิจัย รวมทั้งยกระดับการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมล้ำสมัย ภายในงานยังมีกิจกรรมนำเสนอผลงานวิจัยและ วิชาการ ด้านการพัฒนากำลังคน ด้านงานวิจัยขั้นแนวหน้า ด้านงานวิจัยทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด้านงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญกว่า 800 คนจาก 80 หน่วยงานเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
.
ภายในงานฯ มีกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่น่าสนใจต่อแวดวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) อาทิ
การกล่าวปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิมากประสบการณ์ระดับประเทศ (ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง)
การเสวนาและบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (อาทิ ดร.เจน ชาญณรงค์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล, ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี หรือ ดร.นาว นักวิจัยอาวุโสสังกัดศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. CEO CTO และผู้ก่อตั้งบริษัท โครโนไลฟ์ จำกัด, Ms. Kishida Eriko – Japan Science and Technology Agency (JST) – e-ASIA Special Program Coordinator, ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และดำรงนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยเป็นต้น)
การนำเสนองานวิจัยระดับแนวหน้า ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation
นิทรรศการและการแสดงดนตรีสุดพิเศษจากผู้ชนะเลิศ MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024 ถ้วยรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากมหกรรม อว.แฟร์ ประจำปี 2567
การเฉลิมฉลอง บพค. ก้าวสู่ปีที่ 5 และ การเฉลิมฉลองความร่วมมือระดับนานาชาติสู่การพัฒนากำลังคนอย่างยั่งยืน
.
นอกจากนี้ บพค. ยังได้มีการมอบรางวัล Best Oral Presentation & Best Poster Presentation Awards ให้กับผลงานที่เข้าร่วมนำเสนองานวิจัยในงานดังกล่าว โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลทั้งหมด 4 รางวัล ดังนี้
รางวัล Best Oral Presentation จำนวน 1 รางวัล ได้แก่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สาคร ริมแจ่ม สังกัดคณะวิทยาศาสตร์
ผลงานวิจัย: โครงการพัฒนาสถานีทดลองเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านอินฟราเรดและเลเซอร์เฟมโตวินาทีเพื่อยกระดับงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต
รางวัล Best Poster Presentation จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทินกร ปงธิยา สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์
ผลงานวิจัย: Sustainable Transformation : How Innovation Intermediaries Facilitate Sustainable Innovation – A Comparative Case Study
ดร.มนัสนันท์ นามหงษา นักวิจัยหลังปริญญาเอก ทุน บพค. (อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม คณะวิทยาศาสตร์)
ผลงานวิจัย: Influence of adding a plasticizer and a chain extender on the thermal and mechanical properties to improve the toughness properties of PLA
Dr.Muthukkumaran Karthikeyan นักวิจัยหลังปริญญาเอก ทุน บพค. (อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชา วัชรภาสร คณะวิทยาศาสตร์)
ผลงานวิจัย: Investigation of ferroelectric BNT barrier introduction in YBCO|BNT|YBCO Josephson Junctions and its impact on superconducting and vortex dynamics behavior
.
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอแสดงความยินดีแก่อาจารย์นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านมา ณ โอกาสนี้.