รองศาสตราจารย์ ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายธรรมนูญ น่วมอนงค์ รองผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.นพพล เล็กสวัสดิ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารงานวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารงานวิจัย อีกทั้งคณาจารย์และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย (Research University Network) ครั้งที่ 7 (The 7th RUN SUMMIT) โดยมหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Solutions for Tomorrow’s Thailand” ในระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท จังหวัดสุโขทัย
ศาสตราจารย์ ดร.กรกนก อิงคนินันท์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยทั้ง 8 มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการวิจัย วัตถุประสงค์การประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อสร้างความร่วมมือและหาแนวทางการพัฒนางานวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย โดยแบ่งเป็น 2 Theme ดังนี้
Theme I: Waste
กลุ่ม 1 Electronic Waste (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น)
Theme II: Climate Change
กลุ่ม 1 Food Security: Productivity (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
กลุ่ม 2 One Health (คนและสัตว์) มุ่งเน้นโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ (รับผิดชอบโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล)
กลุ่ม 3 การบริหารจัดการน้ำและฝุ่น PM2.5 (รับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับมอบหมายพัฒนาโจทย์วิจัยในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำและฝุ่น PM2.5” ร่วมกับนักวิจัยในเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ได้นำเสนอหัวข้อการวิจัยต่อผู้ทรงคุณวุฒิจาก 6 แหล่งทุน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 3 หัวข้อ ดังนี้
- หัวข้อ “การบริหารจัดการ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนแบบบูรณาการอย่างมีส่วนร่วม” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ
- หัวข้อ “การบูรณาการเครือข่ายวิจัยเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาคริต โชติอมรศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้นำเสนอ
- หัวข้อ “Integrated PM2.5 Knowledge for Clean Air Solution” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำเสนอ
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบ Pitching ภายใต้การอบรมหลักสูตรสำหรับนักวิจัย “โครงการ RUN for Real: Driving High Impact Research for Economic Growth and Better Living” โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับคัดเลือกรับทุน จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการพัฒนาย่านนิมมานเหมินทร์สู่เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีคู่แฝดดิจิทัล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี เป็นหัวหน้าโครงการ
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลจะเป็นเจ้าภาพในปีต่อไป โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนันท์ วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล รับมอบธง RUN
รวมถึง ประกาศผลกิจกรรม RUN FIT ครั้งที่ 3 การออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชัน Run-Hub NextVR ในหัวข้อ “Pop Run Fit Fest : รวมพลคน fit แบบ pop pop” โดยเริ่มการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อให้บุคลากรในเครือข่ายมหาวิทยาลัยร่วมแข่งขันและส่งผลการออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชัน Run-Hub NextVR ซึ่งในปี 2568 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลอันดับ 7