เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมเวทีชี้แจงความร่วมมือและระดมสมองการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System พร้อมเตรียมทำแผนสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ โดยมี ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. กล่าวเปิดการประชุม ณ ห้อง Dejavu โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
.
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. มีบทบาทและหน้าที่ในการสนับสนุนกิจกรรมของนักวิจัยไทย ผ่านการสนับสนุนทุนพัฒนาศักยภาพในการทำงานวิจัยของอาจารย์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี เพื่อผลิตและผลักดันอาจารย์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพด้านการวิจัย ให้มีโอกาสได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และให้เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวิจัยอาชีพและสร้างองค์ความรู้ที่เป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงเพิ่มผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ อันจะนำไปสู่การยกระดับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้มีศักยภาพในการวิจัยสูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นักวิจัยรุ่นใหม่ประสบปัญหาในการทำงานวิจัยหลากหลายรูปแบบ เช่น ภาระงานสอนและบริการวิชาการค่อนข้างมาก ไม่มีเวลาทำวิจัย เครื่องมือในการทำวิจัยไม่เพียงพอ บทความวิชาการถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ขาดประสบการณ์ในการทำวิจัย ไม่มีเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัย เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้นักวิจัยรุ่นใหม่ใช้เวลาดำเนินโครงการวิจัยนานกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญา และไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System (MMS) ขึ้น โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวง อว. และมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยผ่านทีมที่ปรึกษา (Coach) ของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. และมหาวิทยาลัย โดยการสร้างกิจกรรมในเชิงบวก เช่น การจัดอบรมด้านจรรยาบรรณนักวิจัย กฎหมายและนโยบายสำคัญด้านการวิจัย เพื่อผลักดันให้นักวิจัยรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย, โจทย์วิจัย และผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีประโยชน์สามารถแก้ปัญหา และสนองความต้องการของประเทศได้
.
นอกจากนี้ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่อง กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ, National Credit Bank, Higher Education Sandbox ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้า เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต โดยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในสถาบันอุดมศึกษา การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพต่อไป
.
ในการนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เกตุ กรุดพันธ์ ที่ปรึกษาอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.อภินภัส รุจิวัตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยรัตน์ นิมมานพิภักดิ์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมในฐานะหัวหน้าที่ปรึกษา (Head Coach) โครงการการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยรุ่นใหม่ผ่าน Multi Mentoring System ของสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เกตุ กรุดพันธ์ ยังได้ร่วมนำเสนอแผนการดำเนินงานของโครงการ และเสวนาพิเศษ เรื่อง ความสำคัญของ “Multi-Mentoring System” กับการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน อีกด้วย
แหล่งข่าวอ้างอิง : กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม